fbpx

รักนี้มีค่า! ค่าสินสอดเท่าไหร่ที่เหมาะสม ไม่น่าเกลียด

เมื่อมีการแต่งงานสิ่งหนึ่งที่มักจะตามมาก็คือ “ค่าสินสอด” หลายคนอาจจะอยากรู้ว่า เสนอหรือเรียกค่าสินสอดเท่าไหร่ให้ดูไม่น่าเกลียด หรือบางคนอาจจะยังสงสัยว่า ค่าสินสอดคืออะไร ใช้อะไรมาวัดว่าค่าสินสอดเท่าไหร่ถึงดี หรือเหมาะสม บทความนี้ จึงมาเสนอความรู้เหล่านี้ เพื่อให้การเตรียมงานแต่งของคุณเป็นไปได้อย่างราบรื่น

สินสอดคืออะไร มาจากไหน ทำไมต้องมี ไม่มีได้ไหม? 

การมอบสินสอด คือ ส่วนหนึ่งในขั้นตอนงานแต่งแบบไทย โดยตามประเพณีจะมอบแก้พ่อแม่ของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นการชดเชยที่ครอบครัวจะไม่มีลูกอยู่ปรนนิบัติ เมื่อถึงวัยชรา แม้ปัจจุบันจะไม่มีกฎหมายที่บังคับให้ต้องมอบค่าสินสอดเสมอก่อนแต่งงาน เพราะเป็นเรื่องของการตกลงของคู่บ่าวสาว แต่ในเนื้อหาของกฎหมายเรื่องการมอบค่าสินสอด จะเกี่ยวข้องกับกรณี เมื่อเกิดการผิดสัญญาการแต่งงานขึ้น ก็สามารถเรียกเงินสินสอดคืนกลับได้

การมอบสินสอดผู้ชายจะมอบให้ฝ่ายหญิง หรือผู้หญิงจะมอบให้ผู้ชายก็ได้ ซึ่งตามประเพณีไทยจะเห็นฝ่ายชายเป็นผู้มอบสินสอดให้มากกว่า และในทางกฎหมายมาตรา 1437 ว.3 ค่าสินสอด คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง ทำให้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ “สินสอด” จะเกี่ยวข้องเฉพาะในกรณีที่ที่ฝ่ายชายเป็นผู้มอบให้ฝ่ายหญิงมากกว่า

สำหรับผู้หญิงที่มอบให้ฝ่ายชาย หรือคู่รักเพศเดียวกัน นับว่าเป็นฝ่ายหนึ่งมอบให้แก่ผู้ปกครองอีกฝ่ายหนึ่งตามตกลง แต่ยังไม่มีผลตามกฎหมายเช่นกัน โดยกฎหมายจะมองเป็นของที่ให้โดยสเน่หา เนื่องจากยังไม่มีพรบ. รองรับ ส่งผลให้เรียกคืนไม่ได้ ถ้าเกิดการผิดสัญญา

สินสอด และของหมั้น เหมือนกันไหม

สินสอด คือ สิ่งที่มอบให้พ่อแม่เจ้าสาว ส่วนทองหมั้นหรือของหมั้นจะมอบให้เจ้าสาว ซึ่งค่าสินสอดสามารถเรียกคืนได้ หากการสมรสถูกยกเลิกโดยฝ่ายหญิง หรือมีพฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ฝ่ายชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรส หรือฝ่ายหญิงไม่ยอมแต่งงานด้วย ก็ต้องคืนสินสอดให้ฝ่ายชาย แต่ถ้าแต่งงานกันแล้วมาหย่าภายหลัง สินสอดก็ไม่จำเป็นต้องคืน 

ใช้อะไรเป็นสินสอดได้บ้าง 

ในความเป็นจริง นอกจากการให้เป็นเงินแล้ว สินสอดสามารถเป็นทอง ที่ดิน เครื่องประดับ ปศุสัตว์ รถยนต์หรืออะไรก็ได้ตามที่ตกลงกัน โดยทั่วไปสิ่งที่ใช้เป็นสินสอด มักจะเป็นอะไรที่ประเมินค่าได้ หรือเห็นได้ชัดว่าเป็นของมีค่า 

ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อสินสอด

ในยุคสมัยใหม่ที่พ่อแม่มีการวางแผนวัยเกษียณ และสามารถใช้เงินเก็บอยู่ได้ โดยไม่ต้องการลูกดูแลในยามชรา การเรียกค่าสินสอดก็ไม่ได้มีความจำเป็นนัก บางบ้านจึงไม่สนใจ ว่าควรเรียกค่าสินสอดเท่าไหร่ ทั้งนี้ บางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และหน้าตาทางสังคม หรือมองว่า ค่าสินสอดเป็นเหมือนบททดสอบฝ่ายชาย ว่ามีความพร้อมที่จะดูแลลูกของตัวเองได้

ดังนั้น ปัจจัยในการเรียกค่าสินสอดก็ขึ้นอยู่ได้กับหลายอย่าง เช่น อายุ รายได้ การศึกษา หน้าที่การงาน ภูมิลำเนาของคู่สมรสฝ่ายที่รับสินสอด ฐานะของครอบครัวคู่สมรสฝ่ายที่รับสินสอด แต่งงานเป็นคนที่เท่าไหร่ของครอบครัว เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ ยิ่งครอบครัวที่มีภูมิลำเนาดี ก็มักจะเรียกค่าสินสอดสูงขึ้น

แกะสูตรคำนวณสินสอด

การคำนวนค่าสินสอดที่เหมาะสมนั้น ก็เป็นเพียงสูตรที่สังคมโดยกว้างคิดกันว่าเหมาะสมแล้ว แต่หากคู่สมรสและครอบครัวมีตัวเลขอื่นในใจก็สามารถตกลงกันได้ตามนั้น โดยไม่สนใจสูตรเหล่านี้ก็ได้เช่นกัน สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่า เรียกค่าสินสอดเท่าไหร่ดี ไม่ให้ดูน่าเกลียด ก็สามารถใช้การคำนวณเหล่านี้เป็นตัวช่วยได้

คำนวณจากรายได้

สำหรับการคำนวณค่าสินสอดจากรายได้ มักจะใช้การนำเงินเดือนของทั้งสองฝ่ายรวมกัน x (5 หรือ 10) 

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าบ่าวมีเงินเดือน 40000 บาท และเจ้าสาวมีเงินเดือน 20000 บาท 

(40000 + 20000) x 5 = 300000 บาท หรือ 

(40000 + 20000) x 10 = 600,000 บาท

คำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์ 

การคำนวณค่าสินสอดตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ การคิดจากค่าคงที่ ซึ่งเกี่ยวกับมูลค่าสินสอดที่เพิ่มตามรายได้ทุก 1 บาท และค่าที่เพิ่มตามอายุทุก 1 ปี จะมีอยู่หลายสูตร ซึ่งสามารถคำนวณได้ ดังนี้

กำหนดให้

เจ้าสาว A: อายุ 33 มีเงินเดือน 34000 มีปัจจัยอื่นๆ อยู่ 4500

เจ้าสาว B: อายุ 24 มีเงินเดือน 17000 มีปัจจัยอื่นๆ อยู่ 6000

  1. (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8986.92 x อายุ) +/- ปัจจัยอื่นๆ  = ค่าสินสอด

สูตรนี้เจ้าสาว A: (2.2205 x 34000) + (8986.92 x 33) +/- 4500  = ค่าสินสอดก็จะอยู่ระหว่าง 367,565.36 – 376,565.36

สูตรนี้เจ้าสาว B:  (2.2205 x 17000) + (8986.92 x 24) +/- 6000  = ค่าสินสอดก็จะอยู่ระหว่าง 247,434.58 – 259,434.58

  1. (3.26 x รายได้ต่อเดือน) + (13,200 x อายุ) +/- ปัจจัยอื่นๆ  = ค่าสินสอด

สูตรนี้เจ้าสาว A:  (3.26 x 34000) + (13,200 x 33) +/- 4500  = ค่าสินสอดก็จะอยู่ระหว่าง 541,940 – 550,940

สูตรนี้เจ้าสาว B:  (3.26 x 17000) + (13,200 x 24) +/- 6000  = ค่าสินสอดก็จะอยู่ระหว่าง 366,220 – 378,220

  1. (3.64 x รายได้ต่อเดือน) + (14,700 x อายุ) +/- ปัจจัยอื่นๆ  = ค่าสินสอด

สูตรนี้เจ้าสาว A:  (3.64 x 34000) + (14,700 x 33) +/- 4500  = ค่าสินสอดก็จะอยู่ระหว่าง 604,360 – 613,360

สูตรนี้เจ้าสาว B:  (3.64 x 17000)61880 + (14,700 x 24)352800 +/- 6000  = ค่าสินสอดก็จะอยู่ระหว่าง 408,680 – 420,680

ทั้งนี้ ค่าสินสอดนี้เป็นเงินที่จ่ายแยกจากงานแต่ง ดังนั้น หลังจากที่คำนวณได้แล้ว ควรพิจารณาให้ดีว่ามีเงินพอในการจัดงานแต่งร่วมด้วยหรือไม่ นอกจากเงินสดยังมีทรัพย์สินอื่นๆ อีกตามที่กล่าวไปก่อนหน้า สามารถเกลี่ยๆ มูลค่าของสินสอดให้เหมาะสมได้ ถ้าไม่สะดวกมอบสินสอดเป็นเงินสดเพียงอย่างเดียว

ทำยังไงดีถ้าไม่มีเงินสินสอด

สำหรีบผู้ที่ไม่มีเงินสินสอดมากพอก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะในสังคมเรายังมีทางแก้ปัญหานี้อยู่อีกมากมายหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น

พูดคุยกัน

เมื่อเงินไม่พอควรพูดคุยกับครอบครัวของทั้งสองฝ่าย เพื่อที่จะได้ต่อรอง ขอลด หรือขอผ่อนผันค่าสินสอดให้จ่ายเป็นงวดได้ ซึ่งแม้ว่าฝ่ายชายจะเป็นผู้มอบสินสอด แต่บางครั้งฝ่ายหญิงก็อาจจะช่วยวางเงินไว้ในงานพิธีเพื่อให้เป็นหน้าตาทางสังคม แล้วค่อยไปทยอยมอบเงินจริงกันทีหลังก็ได้ หรืออาจจะแค่หาเงินสดมาวางไว้ก่อนค่อยให้จริงทีหลังก็ทำกันเป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าอายอะไร

ใช้ทรัพย์สินติดตัว 

ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าสินสอดไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถใช้ทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีมูลค่า หรือเครื่องประดับติดตัว เช่น สร้อยทอง กำไลทอง และแหวนเพชร ก็สามารถนำมาประกอบกับค่าสินสอดได้ หากอีกฝ่ายตกลง

ใช้มรดก

อีกแนวทางหากไม่มีเงินสินสอด คือ การเจรจาต่อรองกับผู้ปกครองของตัวเอง เพื่อขอมรดกบางส่วนมาเป็นสินสอดก่อน ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจจะแล้วแต่ครอบครัวว่าต้องใช้เงินคืนหรือไม่ หรือหักออกจากกองมรดกที่วางไว้ไปเลย

สรุป

คงพอได้ไอเดียกันไปบ้างแล้วว่าสินสอดคืออะไร และสินสอดเท่าไหร่ไม่น่าเกลียด ซึ่งขึ้นอยู่กับครอบครัวทั้งสองฝ่ายเป็นหลักว่าจริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน หรือมีหน้าตาทางสังคมต้องรักษาหรือไม่ ทั้งนี้ ค่าสินสอดที่เหมาะสมอาจคำนวณจากรายได้ของทั้งสองฝ่าย และหากไม่มีเงินสินสอดหรือมีไม่มากพอตามที่อีกฝ่ายขอก็ควรพูดคุยกันเพื่อหาทางแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนลง ใช้ทรัพย์สินอื่นๆ แทน หรือการยืมสินทรัพย์มาวางก่อน เป็นต้น เมื่อเตรียมสินสอดกันได้แล้วก็จะได้ดำเนินขั้นตอนต่อไป เช่น หาฤกษ์ยาม จัดพิธีสู่ขอจัดขบวนขันหมาก ตกลงหาสถานที่จัดพิธีหมั้นต่อได้อย่างสบายใจ