fbpx

เตรียมเที่ยว 37 ที่กับงานประจำปีของแต่ละจังหวัดที่น่าสนใจในปี 2566

หลังจากเผชิญสถานการณ์โควิดมาถึง 2 ปี ในปีนี้ หลายๆ จังหวัดจึงจัดงานประจำปีกันอย่างยิ่งใหญ่อลังการ รองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งงานประจำปีของแต่ละจังหวัดในปี 2566 นี้ มีงานที่น่าสนใจถึง 37 งาน 37 จังหวัดด้วยกัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป อ่านบทความและวางแผนเตรียมตัวเก็บกระเป๋าไปเที่ยวกันเลย

1. งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง นครลำปาง 

1. งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง นครลำปาง 

งานประจำปีจังหวัดลำปาง จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 8-13 เมษายน 2566 สถานที่บริเวณลานหน้าพระธาตุศรีจอมไคล วัดปงสนุก ห้าแยกหอนาฬิกา จุดเด่นของงานคือ “สลุงหลวง” หมายถึงขันเงินใบใหญ่ สำหรับใส่น้ำทิพย์และน้ำขมิ้นส้มป่อยจาก 13 อำเภอ เพื่อนำไปสรงน้ำพระเจ้าแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองลำปาง เรียกได้ว่าเป็นงานที่รวมเอาอัตลักษณ์ของจังหวัดมาจัด

2. แห่ผ้าขึ้นภูเขาไฟ น้อมใจไหว้พระใหญ่ ไปเที่ยวลานวัฒนธรรม

2. แห่ผ้าขึ้นภูเขาไฟ น้อมใจไหว้พระใหญ่ ไปเที่ยวลานวัฒนธรรม

เป็นงานประจำปีจังหวัดบุรีรัมย์ จัดในช่วงวันที่ 12-13 เมษายน 2566 ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จุดเด่นคือประชาชนจะร่วมกันแห่ผ้าอังสะเปลี่ยนให้องค์พระสุภัทรบพิตร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์ ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดภูเขาไฟกระโดง นอกจากนั้นภายในงานยังมีกิจกรรมลานวัฒนธรรม สำหรับการแสดงศิลปวัฒนธรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านด้วย 

3. วันไหลบางแสน 

3. วันไหลบางแสน 

งานประจำปีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชลบุรี จัดในวันที่ 16-17 เมษายน 2566 ณ ชายหาดบางแสน มีชื่องานว่า “ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน” เป็นประเพณีการทำบุญอย่างหนึ่งของชาวทะเล สำหรับวันไหลบางแสนนั้นมีกิจกรรมหลายอย่างให้ทุกคนได้ร่วม ไม่ว่าเป็นการร่วมกันก่อพระทราย การประกวดการก่อกองทราย การทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ เวทีการแสดงดนตรี การขายสินค้าและอาหารพื้นเมือง  และการแข่งขันการละเล่นพื้นบ้าน เทศกาลวันไหลเป็นงานประจำปีของจังหวัดที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ถือเป็นการเพิ่มช่วงเวลาสนุกต่อเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย

4. งานประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร

4. งานประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร

งานประจำปีของจังหวัดยโสธร จัดขึ้นวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2566 บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร ลานวิมานพญาแถน (พญาคันคาก-พญานาค) และสวนสาธารณะพญาแถน เป็นงานประจำปีจังหวัดที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่ควรไปเยือนสักครั้ง นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสถึงเรื่องราวของท้องถิ่น พร้อมทั้งได้รับความบันเทิงสนุกสนานในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในงาน ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของภาคอีสานเลยก็ว่าได้

5. งานประเพณีบุญเดือน 6

5. งานประเพณีบุญเดือน 6

งานประเพณีบุญเดือน 6 จัดในวันที่ 24 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2566  ณ ศาลเจ้าพ่อพญาแล จังหวัดชัยภูมิ จัดอย่างยิ่งใหญ่ถึง 9 วัน 9 คืน งานประเพณีบุญเดือนหก ถือเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของชาวชัยภูมิ จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญู รำลึกถึงคุณงามความดี และบวงสรวงสักการะดวงวิญญาณเจ้าพ่อพญาแล หรือพระยาภักดีชุมพล ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ ผู้ไปท่องเที่ยวนอกจากจะได้ซึมซับความเป็นตัวตนของคนท้องถิ่นชัยภูมิ และยังได้รับความสนุกสนานบันเทิงจากกิจกรรมต่างๆ ตลอด 9 วัน 

6. ประเพณีไหว้พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี 

6. ประเพณีไหว้พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี 

งานประจำปีจังหวัดแพร่ จัดขึ้นในช่วงวันที่ 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2566 ณ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นประเพณีทางศาสนาที่สำคัญของชาวแพร่ เพื่อไหว้สักการะพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมือง นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมขบวนเปิดงานสุดยิ่งใหญ่ และร่วมพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชา เป็นการเสริมสิริมงคลแก่ตนเองแบบชุดใหญ่ อิ่มทั้งบุญอิ่มทั้งใจไปเลย

7. งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน 

7. งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน 

งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน จัดในวันที่ 24-25 มิถุนายน 2566 ณ ถนนพระแก้วอาสา หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย และวัดโพนชัย จังหวัดเลย เป็นงานประจำปีจังหวัดที่มีชื่อเสียงอย่างมากงานหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะขบวนแห่ “ผีตาโขน” ที่มีผู้แต่งกายเป็นผีตาโขนสีสันสดใส ใส่หน้ากากที่ทำมาจากหวดนึ่งข้าวเหนียว เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สืบต่อกันมาของชาวอีสานจังหวัดเลย เพื่อบวงสรวงวิญญาณบรรพชนที่ลวงลับไปแล้ว กลายเป็นอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ความสวยงามและยังแฝงไปด้วยคติความเชื่อที่ทำให้ชาวท้องถิ่นภาคภูมิใจรวมแรงรวมใจจัดงานกันเป็นหนึ่งเดียว 

8. งานประเพณีแห่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร

8. งานประเพณีแห่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร

งานประจำปีที่สำคัญที่สุดของชาวสมุทรสาคร ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึง 55 ปี จัดงานวันที่ 24-28 มิถุนายน 2566 ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร มีการจัดประเพณีแห่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร หรือ เจ้าพ่อวิเชียรโชติ ให้ประชาชนชาวสมุทรสาครได้ชื่นชมสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ความพิเศษของขบวนแห่คือมีการแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ นักท่องเที่ยวจะได้เห็นถึงพลังความศรัทธาของชาวสมุทรสาครต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองของพวกเขา

9. เทศกาลดอกกระเจียวบาน

9. เทศกาลดอกกระเจียวบาน

หนึ่งปีจะมีแค่ครั้งเดียว สำหรับเทศกาลดอกกระเจียวบาน ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ดอกกระเจียวจะเบ่งบานในช่วงฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ของทุกปี ช่วงเวลาที่ดอกกระเจียวบานสะพรั่งคือ เดือนกรกฎาคม เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝน จึงมีความชุ่มชื่น เย็นสบาย และมีความสวยงามของทัศนียภาพ นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติทั้งหลายจึงไม่ควรพลาดชมทุ่งดอกกระเจียวงานประจำปีจังหวัดชัยภูมิอย่างยิ่ง  

10. เทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา

10. เทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา

อีกหนึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวสายนิเวศที่ไม่ควรพลาด เทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดา-ตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ถือเป็นงานประจำปีอีกงานหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว ที่เปิดให้ชมผีเสื้อสวยงามในบริเวณอุทยานที่มีกว่า 300 สายพันธ์ุ นักท่องเที่ยวจะได้พักผ่อน หลีกหนีจากความวุ่นวาย ดื่มด่ำกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

11. ประเพณีแห่เทียนพรรษา

11. ประเพณีแห่เทียนพรรษา

จัดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ภายใต้กิจกรรม “231 ปี อุบลราชธานี ฮุ่งเฮือง เมืองธรรม” เป็นงานประจำปีที่มีชื่อเสียง และสำคัญมากของจังหวัดอุบลราชธานี จัดทุกปีในวันเข้าพรรษา เอกลักษณ์ของงานคือ ขบวนแห่เทียนพรรษารอบเมือง ที่มีความวิจิตรงดงาม ทั้งการแกะสลักเทียนพรรษาอย่างประณีต บอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธศาสนา นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวอุบลราชธานี

12. ประเพณีตักบาตรดอกไม้

12. ประเพณีตักบาตรดอกไม้

งานประจำปีจังหวัดสระบุรี จัดขึ้นในวันเข้าพรรษาของทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร ซึ่งจะจัดงานเป็นระยะเวลา 3 วัน ชาวสระบุรีได้ยึดถือปฏิบัติประเพณีการตักบาตรดอกไม้สืบต่อมาทุกปี การตักบาตรดอกไม้จะใช้ดอกไม้ที่มีชื่อว่า “ดอกเข้าพรรษา” ใส่บาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ผู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความอิ่มเอมใจและเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ใหม่ๆ 

13. มหกรรมแห่เทียนพรรษา และตักบาตรบนหลังช้างจังหวัดสุรินทร์

13. มหกรรมแห่เทียนพรรษา และตักบาตรบนหลังช้างจังหวัดสุรินทร์

งานประจำปีจังหวัดสุรินทร์ จัดในช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาของทุกปี (ตรงกับวันที่ 1-2 สิงหาคม 2566) บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ด้วยจังหวัดสุรินทร์มีเอกลักษณ์โดดเด่นเรื่องของความผูกพันกับช้าง จึงเกิดเป็นกิจกรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิตคนกับช้าง กิจกรรมตักบาตรบนหลังช้างหนึ่งเดียวในโลก ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวนานาชาติอย่างมาก

14. งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช 

14. งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช 

งานประจำปีของจังหวัดนครพนม จัดขึ้นในวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566 พญาศรีสัตตนาคราช เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวนครพนมให้ความนับถืออย่างมาก เชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาพระธาตุพนม ทุกปีจะการจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชอย่างยิ่งใหญ่อลังการ มีการแสดงฟ้อนรำโดยนางรำจากทุกอำเภอประมาณ 1,000 คน ร่วมฟ้อนรำตลอดทุกวัน พญาศรีสัตตนาคราชนั้นเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวนครพนมและชาวไทยจำนวนมาก

15. กุ้งเดินขบวน แก่งลำดวน 

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สุดแสนจะมหัศจรรย์ หนึ่งปีจะมีให้เห็นครั้งเดียว “กุ้งเดินขบวน” ณ แก่งลำดวน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน สำหรับปี 2566 นี้ ต้องรอประกาศทางการเกี่ยวกับการเปิดให้เข้าไปท่องเที่ยวจาก ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี ปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวน เป็นการที่กุ้งก้ามขน เดินทวนกระแสน้ำ มุ่งไปยังต้นน้ำลำโดมใหญ่ เป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก เพราะปริมาณที่กุ้งจะออกมาเดินขบวนนั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาล หรือปริมาณน้ำฝน แม้จะไม่ใช่งานประจำปี แต่ก็ควรลองไปชมดูสักครั้ง

16. ประเพณีสลากย้อม 

งานประจำปีของจังหวัดลำพูน จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ณ วัดพระธาตุหริภุญไชยวรวิหาร เป็นประเพณีของ “ชาวยอง” หรือกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อสิบสองปันนา ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดลำพูน ความพิเศษของประเพณีสลากย้อม คือ เป็นประเพณีสำหรับการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาสำหรับหญิงสาวช่วงอายุ 20 ยังไม่แต่งงาน เชื่อว่าอานิสงส์ผลบุญที่ทำนั้นเทียบเท่ากับการบวชของชายหนุ่ม ภายในงานจะได้ชื่นชมขบวนแห่ต้นสลากย้อมกว่า 100 ต้น แห่ไปตามถนน มีการเล่าประวัติผู้ถวายทานด้วยทำนองโบราณ เรียกว่า “ฮ่ำกะโลง” เป็นความสวยงามทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่ควรพลาด

17. เทศกาลหุ่นฟางโคราช 

อีกหนึ่งงานประจำปีจังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มทร.อีสาน ตำบลหนองระเวียง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา งานได้จัดขึ้นภายใต้นโยบายจังหวัด “โคราชเมืองศิลปะ” ภายในงานจะได้ชื่นชมประติมากรรมหุ่นฟางที่มีความสวยงาม หลากหลายรูปแบบ ผลงานที่สร้างสรรค์จากศิลปินท้องถิ่น และยังได้สัมผัสบรรยากาศของป่ากลางเมือง พร้อมทั้งการชิมอาหารท้องถิ่น และการเลือกซื้อสินค้า OTOP ด้วย

18. ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ 

ประเพณีเก่าแก่ งานประจำปีของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จัดสืบต่อกันมายาวนาน ในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ณ สนามหน้าเมือง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ เรียกอีกชื่อว่า “ประเพณีชิงเปรต” เป็นประเพณีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณบรรพชนและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าวิญญาณหรือเปรต จะออกจากนรกมาเพื่อขอรับส่วนบุญจากญาติพี่น้อง ในงานประเพณีปีนี้จัดตรงกับงานกาชาดในช่วงวันที่ 8-17 ตุลาคม 2566 ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ชมขบวนแห่เปรต และชมหนังตะลุงอันเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ชื่อเสียงของภาคใต้อีกด้วย

19. เทศกาลโคมแสนดวง เมืองลำพูน

19. เทศกาลโคมแสนดวง เมืองลำพูน

งานประจำปีของจังหวัดลำพูน จัดขึ้นวันที่ 25 กันยายน – 8 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดพระธาตุหริภุญไชย วรมหาวิหาร ละอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จังหวัดลำพูน การถวายโคมแสนดวงของชาวลำพูน ถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญไชย และเคารพสักการะพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตริย์เมืองลำพูน นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสดื่มด่ำความงดงามของโคมไฟ และยังได้ร่วมแขวนโคมเพื่อเป็นสิริมงคล ขอพรในช่วงเทศกาลยี่เป็ง หรือเทศกาลลอยกระทงด้วย

20. งานประเพณีไหลเรือไฟ

งานประจำปีจังหวัดนครพนม จัดในช่วงออกพรรษา เดือนตุลาคม ณ แม่น้ำโขงและริมฝั่งโขง ถนนสุนทรวิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ภายในงานจะมีการจัดแสดงเรือไฟสุดตระการตา โดยฝีมือของศิลปินท้องถิ่น มีกิจกรรมการประกวดไหลเรือไฟ ประเพณีไหลเรือไฟเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม เป็นงานที่มีชื่อเสียง แสดงถึงความศรัทธาและความสามัคคีของชาวนครพนม นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรมสนุกสนานภายในงาน และสัมผัสถึงความงดงามของศิลปะท้องถิ่นนครพนมด้วย

21. งานประเพณีรับบัว

21. งานประเพณีรับบัว

งานประจำปีสุดยิ่งใหญ่อลังการหนึ่งเดียวของจังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นในวัน 14 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดบางพลีใหญ่ใน พระอารามหลวง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญและชาวไทยในท้องถิ่น ความพิเศษ คือ ประชาชนจะโยนดอกบัว เพื่อถวายหลวงพ่อโตจำลองที่แห่ลงเรือล่องตามลำคลอง ให้ชาวบ้านได้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล งานประเพณีโยนบัวเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียว แสดงถึงความศรัทธาในพุทธศาสนา และยังเป็นการแสดงภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

22. งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง

22. งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง

งานประจำปีจังหวัดสกลนคร จัดในช่วงออกพรรษา เดือนตุลาคม ณ บริเวณสนามมิ่งเมืองสกลนคร และวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร จังหวัดสกลนคร ชาวสกลนครถวายปราสาทผึ้งเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา และเชื่อว่าการแห่ปราสาทผึ้งจะนำผลบุญกุศลแรงกล้า นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมความงดงามของปราสาทผึ้งที่บรรจงสร้างโดยศิลปินท้องถิ่นและวัดต่างๆ ในจังหวัด และยังได้สนุกสนานไปกับการแข้งเรือยาวที่มักจะจัดช่วงเดียวกันด้วย 

23. งานบั้งไฟพญานาค

งานประจำปีที่มีชื่อเสียงระดับโลกของจังหวัดหนองคาย จัดขึ้นในวันออกพรรษาของทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ณ ลานวัฒนธรรมริมน้ำโขง จังหวัดหนองคาย และยังมีจุดชมบั้งไฟพญานาคอีกหลายจุดตลอดริมโขง แต่เดิมชาวบ้านเชื่อว่าลูกไฟที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง เป็นบั้งไฟที่พญานาคจุดเพื่อเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา แม้จะได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นการจุดบั้งไฟจากฝั่งลาว แต่ก็ยังคงมีการจัดงานประเพณีบั้งไฟพญานาคต่อมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นงานบุญออกพรรษาของชาวหนองคาย และยังมีกิจกรรมสนุกสนานมากมายให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมชม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรี หนังกลางแปลง ตลาดย้อนยุค และยังได้ซึมซับบรรยากาศริมน้ำโขงกับพระจันทร์เต็มดวง และแสงสีสวยงามในยามค่ำคืนด้วย

24. ประเพณีตักบาตรเทโว

24. ประเพณีตักบาตรเทโว

งานประจำปีจังหวัดอุทัยธานี ในช่วงวันออกพรรษา ณ วัดสังกัสรัตนคีรี หรือวัดเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี  อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี เป็นประเพณีตักบาตรเทโวที่มีชื่อเสียงที่สุด ในวันตักบาตรเทโวนั้น พระสงฆ์จะเดินลงมาจากยอดเขาสะแกกรัง โดยมีชาวบ้านมารอใส่บาตร ประเพณีที่ปฏิบัติกันในประเพณีตักบาตรเทโว คือ การใส่บาตรด้วยข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยน เปรียบเสมือนการต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับจากการจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

25. งานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ 

25. งานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ 

งานประจำปีของจังหวัดนครปฐม จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ณ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จัดขึ้นเพื่อบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่ในองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นพระสถูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการ พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย มีมหรสพให้นักท่องเที่ยวได้ชมตลอดระยะเวลาจัดงาน และยังมีร้านค้า สินค้าท้องถิ่นให้เลือกชมเลือกซื้อมากมาย

26. งานนมัสการหลวงพ่อโสธร

งานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร และบริเวณศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อโสธรเป็นศูนย์รวมจิตใจ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวฉะเชิงเทรามาตั้งแต่โบราณ โดยในทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธร ภายในงานจะมีขบวนแห่หลวงพ่อโสธรทั้งทางบกและทางน้ำ สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ได้มาสัมผัสอย่างยิ่ง นอกจากนันยังมีร้านค้าของท้องถิ่น และกิจกรรมอีกหลากหลายรูปแบบให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส

27. ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ

จังหวัดสุโขทัย ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทง อันเป็นงานประจำปีของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก “ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ” ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ภายในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงแสงสีเสียง การแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง การแสดงกระบี่กระบอง การแสดงโขน ละครหุ่น และที่พลาดไม่ได คือ การประกวดนางนพมาศ นอกจากนั้นยังมีตลาดอาหารย้อนยุคให้นักท่องเที่ยวได้เสพวัฒนธรรมประเพณีโบราณของไทยอีกด้วย

28. ประเพณียี่เป็ง

28. ประเพณียี่เป็ง

งานประจำปีของชาวล้านนาหรือชาวเหนือ ประเพณียี่เป็งจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ บริเวณริมแม่น้ำปิง ประตูท่าแพ และบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ช่วงวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2566 ประเพณียี่เป็งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวล้านนา ความพิเศษ คือ การปล่อยโคมลอย เพื่อขับไล่ความโชคร้ายทั้งปวงออกไป อันเป็นวิธีปฏิบัติของชาวล้านนาในประเพณียี่เป็ง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์ ทั้งยังเป็นช่วงฤดูที่อากาศเย็นสบาย เหมาะแก่การพักผ่อนจิตใจอย่างยิ่ง

29. ประเพณีลอยกระทงสายสาย ไหลประทีปพันดวง

29. ประเพณีลอยกระทงสายสาย ไหลประทีปพันดวง

งานประจำปีของจังหวัดตาก จัดขึ้นในช่วงเทศกาลลอยกระทงของทุกปี ณ ริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก จากตำนานความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ จุดเด่น คือ การฟั่นด้ายรูปตีนกา ใส่ในกระทง เพื่อเป็นพุทธบูชา ตัวกระทงนั้นชาวบ้านประยุกต์ใช้กะลามะพร้าว ที่เป็นของที่มีจำนวนมากในท้องถิ่นมาใช้ เมื่อลอยกระทงในแม่น้ำปิงแล้ว กระทงจะไหลเป็นสายตามสายน้ำ มีความสวยงามอย่างยิ่ง ถือเป็นเทศกาลลอยกระทงที่ควรไปชื่นชมสักครั้ง

30. ประเพณีงานลอยกระทงกาบกล้วย เมืองแม่กลอง

งานประจำปีของชาวสมุทรสงคราม จัดขึ้นทุกปีในช่วงเทศกาลลอยกระทง ณ อุทยาน ร.2 อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ความโดดเด่นอยู่ที่การใช้กาบกล้วยมาเป็นกระทงแทนการใช้ใบตอง ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการคิดประดิษฐ์กระทงจากวัสดุท้องถิ่น นอกจากจะได้ชมความงามของกระทบกาบกล้วยสว่างไสวบนผืนน้ำแล้ว ยังมีกิจกรรมดนตรีสด และตลาดอาหารย้อนยุคอีกด้วย

31. เทศกาลพลุนานาชาติ

31. เทศกาลพลุนานาชาติ

งานประจำปีบนหาดพัทยา จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน บริเวณหาดพัทยากลาง จังหวัดชลบุรี เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยความร่วมมือจากต่างชาติที่เข้าร่วมประชันความสวยงามของพลุ ในปีล่าสุดมีประเทศเบลเยี่ยม แคนาดา ฟิลิปินส์ และมาเลเซีย ร่วมแสดงพลูสุดอลังการ นอกจากชมพลุนานาชติแล้ว ยังมีร้านค้ากว่า 600 ร้าน ตั้งบริการให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสโดยเฉพาะอาหารที่มีความหลากหลายและมีชื่อเสียงของประเทศ

32. เทศกาลเที่ยวพิมาย

งานประจำปีจังหวัดนครราชสีมา จัดในเดือนพฤศจิกายน ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่ตั้งของปราสาทหินพิมาย สถานที่ท่องเที่ยวเลื่องลือชื่อของนครราชสีมา ภายในงานมีการแสดงแสงสี และการแสดงศิลปวัฒนธรรมเรื่องราวประวัติศาสตร์แห่งดินแดนอีสาน พร้อมทั้งเปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์พิมายในยมค่ำคืนด้วย นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่าง ได้สัมผัสเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและสวยงามไม่เหมือนใคร

33. งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว และงานกาชาด

33. งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว และงานกาชาด

งานประจำปีจังหวัดกาญจนบุรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว และลานข้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ไฮไลท์สำคัญคือการแสดงเสียงสีเสียง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสะพานข้ามแม่น้ำแคว นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมงานกาชาดของจังหวัดให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมลุ้นของรางวัล และชมการแสดงต่างๆ พร้อมทั้งร้านอาหารมากมาย 

34. เทศกาลดอกบัวตองบาน

เทศกาลงานประจำปีที่ทุกคนรอคอย อยากจะสัมผัสอากาศเย็นสบายพร้อมทั้งทัศนียภาพทุ่งดอกบัวตองสุดลูกหูลูกตา ณ ดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี นักท่องเที่ยวจะเตรียมวางแผนเพื่อเดินทางไปชื่นชมความสวยงานของทุ่งดอกบัวตองสีเหลืองบานสะพรั่งอยู่บนยอดดอย พร้อมทั้งซึมซับวัฒนธรรมของชาวเหนือ มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกวางจำหน่ายเป็นของฝาก นอกจากนั้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้เข้าไปเยือนอีกหลายแห่ง เรียกได้ว่ามาแล้วคุ้มค่าอย่างแน่นอน

  35. งานช้างสุรินทร์

35. งานช้างสุรินทร์

งานประจำปีจังหวัดสุรินทร์ จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ณ สนามกีฬาศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่เลี้ยงช้างมากที่สุดในประเทศไทย ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด ในทุกปีจึงมีการจัดงานช้างสุรินทร์ขึ้น โดยนักท่องเที่ยวจะได้มาสัมผัสกับช้างตัวเป็นๆ ภายในงานจะได้รับชมมีการแสดงช้าง และเลี้ยงอาหารช้าง มีกิจกรรมและสินค้าที่เกี่ยวกับช้าง และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสุรินทร์ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกชมเลือกซื้ออีกด้วย

36. งานกาชาด กรุงเทพฯ

36. งานกาชาด กรุงเทพฯ

งานประจำปีสุดยิ่งใหญ่ของชาวกรุงเทพ จัดขึ้นในเดือนธันวาคม ของทุกปี ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร งานกาชาดเป็นงานรื่นเริง สนุกสนาน ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุ้นของรางวัล และการเล่นชิงโชคต่างๆ ที่มีให้ร่วมทั่วทั้งงาน อีกทั้งยังมีการจำหน่ายสินค้าและอาหารอร่อยอีกมากมายหลายร้านด้วย

37. ประเพณีแห่ดาว คริสต์มาส

งานประจำปีของคริสตชนชาวอีสาน จัดขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสทุกปี ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ (ชุมชนท่าแร่) ชุมชนคาทอลิกเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี เป็นงานเฉลิมฉลองรื่นเริง จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การติดตามดาวประหลาดของโหราจารย์ จนกระทั่งไปพบสถานที่ประสูตของพระเยซู จึงถือว่าดาวนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระเยซู ภายในงานมีขบวนแห่ดาวรอบหมู่บ้าน และรอบอาสนวิหาร มีกิจกรรมการขับร้องเพลงคริสตมาส พิธีขอบพระคุณ การแสดงละครประวัติการบังเกิดของพระเยซู และยังมีถนนคนเดินให้นักท่องเที่ยวได้เดิมชมด้วย

สรุป

งานประจำปีของแต่ละจังหวัดล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ทุกประเพณีและเทศกาลต่างก็มีเรื่องเล่าอันเนื่องจากความเชื่อความศรัทธา เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์อย่างมาก ทุกจังหวัดมีงานประจำปีที่มีเอกลักษณ์น่าค้นหารออยู่ การเลือกที่พักก็เป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มความสุขในการท่องเที่ยวเช่นกัน  หากได้มาท่องเที่ยวพักผ่อนกายใจที่เขาใหญ่เมื่อใด Rancho Charnvee พร้อมและยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้คุณได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยที่สมบูรณ์แบบที่สุด